เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
กฎหมายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่น้อยคนนักที่จะเรียนรู้และให้ความสำคัญกับกฎหมาย คนที่รู้มากก็สามารถนำไปใช้ได้ทั้งที่เป็นประโยชน์และโทษ ส่วนคนที่ไม่รู้ก็มักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่เสมอ ดังนั้นเราจึงอยากนำเสนอเกร็ดกฎหมายเล็กๆน้อยๆที่สามารถจะนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน หากท่านใดมีคำถามหรือข้อสงสัยประการใดสามารถนำคำถามต่างๆมาโพสถามได้ เราจะพยายามตอบคำถามและค้นคว้าข้อมูลที่เป็นประโยชน์มานำเสนอแก่ท่านทั้งหลายต่อไป หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลทั้งหมดจะเป็นประโยชน์แก่ท่านไม่มากก็น้อย หากมมีข้อผิดพลาดประการใดยินดีรับคำชี้แนะของทุกท่าน คุณความดีทั้งหมดข้อยกให้แด่บิดามารดาและครูอาจารย์ทุกท่าน ติดต่อคดีความโทร.0990310273

20 กรกฎาคม 2555

กรณีถูกขโมยบัตรเครดิตไปใช้ ธนาคารเรียกเก็บเงินจากเจ้าของบัตรเครดิตได้หรือไม่?


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2552

ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ถูกลักขโมย หรือถูกใช้โดยบุคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ถือบัตร (จำเลย) ที่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศูนย์บัตรเครดิตของธนาคาร (โจทก์) ทราบแล้วโดยพลันเพื่อให้ระงับการใช้บัตรเครดิต ในภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนมีการแจ้งดังกล่าวในจำนวนเงินที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตร ซึ่งถูกนำไปใช้โดยมิชอบ รวมถึงภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจากแจ้งให้ธนาคารทราบแล้วไม่เกิน 5 นาที นอกจากจะขัดแย้งกับข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 6 วรรคสอง แล้ว ยังถือเป็นข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระในหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยไม่ได้ก่อขึ้นและไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ทั้งโจทก์ยังมีทางแก้ไขความเสียหายของโจทก์ได้โดยหากโจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฎว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยผู้ถือบัตร โจทก์สามารถเรียกเงินที่ได้จ่ายไปคืนจากร้านค้าได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยว่าบัตรเครดิตได้สูญหายไปเพื่อขอให้โจทก์ระงับการใช้บัตรเครดิต โจทก์จะต้องรีบดำเนินการให้จำเลยโดยเร็ว ก็จะทราบได้ทันทีว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลย แสดงว่าร้านเจมาร์ทไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อในเซลสลิป ย่อมทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากร้านเจมาร์ทแทนการมาเรียกเก็บจากจำเลยได้ ซึ่งเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่โจทก์มิได้ทำเช่นนั้น โดยเห็นว่ามีข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ถือเป็นการเอาเปรียบจำเลยเกินสมควรและเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องรับผิดเกินกว่าวิญญูชนทั่วไปจะคาดหมายได้ตามปกติ อันเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 จึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์

สินสมรสที่มีชื่อทางทะเบียนเป็นชื่อสามีหรือภรรยาผู้เดียว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8739/2552
จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดในระหว่างสมรสกับโจทก์ อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137
เมื่ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย อำนาจการจัดการจำนองอาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจำเลยก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือโจทก์มีสินสมรสเพิ่มขึ้นหรือไม่ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
การคุมความประพฤติจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 เป็นเพียงวิธีการที่ศาลกำหนดเงื่อนไขประกอบ การใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีหลักเกณฑ์ว่า ความผิดที่จะกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติต้องเป็นความผิดร้ายแรง หรือจำเลยต้องมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือเป็นอันตรายต่อสังคม หรือติดยาเสพติดให้โทษดังที่จำเลยกล่าวอ้าง เมื่อปรากฏว่าศาลล่างทั้งสองรอการลงโทษจำคุกจำเลย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 จึงชอบแล้ว

ฎีกาเรื่องสภาพบุคคล การจัดการสินสมรส ทรัพย์มรดก การแบ่งมรดก อายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5689/2552

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 บิดาโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. มารดาโจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงเป็นการเรียกให้ได้ที่ดินกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ แม้ที่ดินพิพาทจะกล่าวอ้างว่าเป็นสินสมรสก็ตามก็เป็นเพียงข้อที่นำไปสู่การวินิจฉัยถึงการแบ่งส่วนของที่ดินในฐานะที่เป็นสินสมรสเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของ อ. เท่านั้น คดีของโจทก์จึงมิได้พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว แต่เป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินนั้น เมื่อโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนหากไม่สามารถทำได้ให้ชำระเงินจำนวน 186,750 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทที่โจทก์เรียกร้องจึงไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินโดยไม่สุจริตนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
เมื่อ อ. ถึงแก่กรรม การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และ อ. ย่อมสิ้นสุดลงด้วยเหตุการณ์ตายของ อ. ทรัพย์มรดกส่วนของ อ. ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทันที ด้วยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 ประกอบมาตรา 1599 และ 1629 ที่ดินในส่วนที่เป็นสินสมรสของ อ. ย่อมกลายเป็นมรดก การที่ที่ดินเคยเป็นสินสมรสจึงเป็นเพียงข้อที่นำไปสู่การวินิจฉัยถึงการแบ่งส่วนของที่ดินในฐานะที่เป็นสินสมรสเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของ อ. เท่านั้น นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจาก อ. ถึงแก่กรรมแล้วประมาณ 5 ปี อ. สิ้นสภาพบุคคลเมื่อตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 วรรคหนึ่ง กรณีจึงมิใช่เรื่องการจัดการสินสมรสที่สามีภริยาจะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้นคู่สมรสที่มิได้ให้ความยินยอมมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 และ 1480 ทั้ง อ. ไม่อาจใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ เนื่องจากสิ้นสภาพบุคคลด้วยเหตุการตาย แต่กรณีเป็นเรื่องว่าด้วยวิธีการจัดการแบ่งทรัพย์ถึงสิทธิในที่ดินกึ่งหนึ่งของ อ. ที่เป็นมรดก โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่แบ่งสินสมรสในส่วนที่ดินครึ่งหนึ่งให้แก่ อ. โจทก์คงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นมรดกของ อ. ให้แก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น
โจทก์ผู้เป็นทายาทมิได้ฟ้องเรียกร้องมรดกดังกล่าวเสียภายในกำหนด 1 ปี จากจำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองแต่เพียงผู้เดียวในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ทรัพย์ในส่วนมรดกนั้นย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทายาทผู้ครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์ซึ่งรวมส่วนมรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 ย่อมใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นทายาทยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้เป็นทายาทอื่นได้ด้วยแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ย่อมถือว่าการยกอายุความเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 เป็นการทำแทนจำเลยที่ 1 ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) ดังนี้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754