เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
กฎหมายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่น้อยคนนักที่จะเรียนรู้และให้ความสำคัญกับกฎหมาย คนที่รู้มากก็สามารถนำไปใช้ได้ทั้งที่เป็นประโยชน์และโทษ ส่วนคนที่ไม่รู้ก็มักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่เสมอ ดังนั้นเราจึงอยากนำเสนอเกร็ดกฎหมายเล็กๆน้อยๆที่สามารถจะนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน หากท่านใดมีคำถามหรือข้อสงสัยประการใดสามารถนำคำถามต่างๆมาโพสถามได้ เราจะพยายามตอบคำถามและค้นคว้าข้อมูลที่เป็นประโยชน์มานำเสนอแก่ท่านทั้งหลายต่อไป หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลทั้งหมดจะเป็นประโยชน์แก่ท่านไม่มากก็น้อย หากมมีข้อผิดพลาดประการใดยินดีรับคำชี้แนะของทุกท่าน คุณความดีทั้งหมดข้อยกให้แด่บิดามารดาและครูอาจารย์ทุกท่าน ติดต่อคดีความโทร.0990310273

6 มิถุนายน 2555

กฎหมายมรดก


๑. กองมรดก คืออะไร

กองมรดกคือทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ้าน เสื้อผ้า หรือแม้แต่ของใช้ส่วนตัว แม้แต่ทองที่ครอบฟันไว้ ก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของผู้ตาย ซึ่งเมื่อบุคคลใดตายแล้วย่อมอยู่ในความหมายของกองมรดกด้วย

นอกจากทรัพย์สินแล้ว ยังรวมถึงบรรดาสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในวันที่ตายหรือที่จะมีขึ้นในวันข้างหน้าภายหลังจากที่ตายแล้วด้วย เช่นทำสัญญาเช่าบ้านมีกำหนดสิบปี เช่าไปได้สองปีแล้วเกิดตายลง สิทธิที่จะเช่าบ้านนั้นต่อไปอีก ๘ ปี ก็จะตกเป็นกองมรดก ในขณะเดียวกันหน้าที่หรือความรับผิดในการชำระค่าเช่าที่ค้างอยู่ก็ดี หรือที่จะชำระต่อไปในวันหน้าก็ดี ล้วนตกเป็นกองมรดกด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามบรรดาสิทธิ หน้าที่ หรือความรับผิด ที่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย ย่อมตายตามตัวผู้ตายไปด้วยไม่ตกทอดไปถึงทายาท เช่นทำสัญญาว่าจะไปเล่นลิเกให้ชมในอีกสิบวันข้างหน้า หรือไปตกลงรับจ้างวาดรูปไว้ แล้วเกิดตายเสียก่อนเช่นนี้ จะเห็นได้ว่าโดยสภาพแล้วเป็นเรื่องเฉพาะตัว จะมากะเกณฑ์ให้ทายาทต้องไปเล่นลิเกแทนผู้ตายย่อมไม่ได้ แต่ถ้าบังเอิญผู้ตายไปรับเงินค่าตัวเขามาก่อนแล้ว ก็กลายเป็นหนี้ที่ทายาทจะต้องชดใช้คืนให้แก่ผู้จ้าง

เมื่อกฎหมายกำหนดว่ากองมรดกนั้นประกอบไปด้วยทั้งทรัพย์สินและหน้าที่และความรับผิดด้วยเช่นนี้ มิกลายเป็นว่าถ้ากองมรดกมีหนี้มากกว่าทรัพย์สิน ทายาทที่จะรับมรดกไปมิต้องกลายเป็นลูกหนี้ไปด้วยหรือ เรื่องนี้กฎหมายมิได้ใจไม้ไส้ระกำถึงขนาดนั้น เพราะได้กำหนดไว้แล้วว่าไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร ทายาทก็ไม่จำต้องรับผิดเกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน เรียกว่าอย่างแย่ที่สุดก็เพียงเสมอตัว คือไม่ได้อะไรเลย

ที่ว่าทรัพย์สินของผู้ตายนั้น ต้องเข้าใจว่าหมายถึงทรัพย์สินที่เป็นของผู้ตายจริง ๆ ไม่ใช่ทรัพย์สินทั้งหมดที่สามีภริยามีอยู่ร่วมกัน เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์สินที่มีอยู่ระหว่างสามีภริยาจะต้องแยกออกจากกันเสียก่อน ส่วนของใครก็เป็นของของคนนั้น จะทำพินัยกรรมยกให้ใครก็ได้แต่จะต้องยกเฉพาะส่วนที่เป็นของตนเท่านั้น ถ้าไม่มีพินัยกรรม และทรัพย์สินจะตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ทรัพย์สินที่จะตกไปย่อมจำกัดอยู่แต่เฉพาะส่วนที่เป็นของผู้ตาย ไม่รวมถึงส่วนที่เป็นของคู่สมรสด้วย

เมื่อคู่สมรสคนหนึ่งตายไป การสมรสย่อมสิ้นสุดลง ทรัพย์สินที่ทั้งสองมีอยู่ด้วยกันย่อมแยกออกจากกันโดยผลของกฎหมาย แม้ว่าในความเป็นจริงทรัพย์สินทั้งหมดจะยังอยู่รวม ๆ กัน บางชิ้นก็เป็นชื่อของคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทรัพย์สินนั้นจะเป็นของคนนั้นแต่เพียงผู้เดียว

การที่คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ได้รับทรัพย์สินส่วนของตนแยกมา มิได้หมายความว่าคู่สมรสดังกล่าวได้รับมรดก หากแต่เป็นการได้ทรัพย์สินของตนคืนมา ส่วนของผู้ตายนั้น คู่สมรสจึงจะไปรับมาในฐานะมรดกอีกต่อหนึ่ง เช่น เมื่อสามีตาย มีเงินอยู่ในบัญชีของสามี ๑๐๐ ล้านบาท ถ้าเงิน ๑๐๐ ล้านบาทนั้นได้มาในระหว่างที่อยู่กินด้วยกันโดยไม่ใช่เป็นสินส่วนตัวของสามี เมื่อสามีตาย เงิน ๑๐๐ ล้านจะถูกแบ่งระหว่างสามีและภริยาคนละ ๕๐ ล้าน ส่วนของสามี ๕๐ ล้านจะตกเป็นทรัพย์มรดก นำมาแบ่งกันในระหว่างผู้เป็นทายาท ซึ่งแม้ภริยาจะไม่ได้เป็นทายาท แต่ก็มีสิทธิได้รับมรดกเช่นเดียวกับทายาท เช่น ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ และมีลูก ๔ คน เงิน ๕๐ ล้านนั้นจะแบ่งระหว่างภริยาและลูก ๆ คนละ ๑๐ ล้าน ตกลงภริยาจะได้เงิน ๖๐ ล้าน (คือ ๕๐ ล้านในฐานะที่เป็นทรัพย์สินของตนที่แยกออกมา และอีก ๑๐ ล้านในฐานะที่เป็นมรดก) และลูก ๆ ได้คนละ ๑๐ ล้าน

ถ้าผู้ตายเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินของท่านที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ท่านจะทำพินัยกรรมยกให้ใครก็ได้ แต่ถ้าท่านไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินเหล่านั้นจะตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของท่าน โดยจะไม่ตกไปยังทายาทโดยธรรมทั้งปวง แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินที่ท่านมีอยู่ก่อนอุปสมบทย่อมตกไปเป็นของทายาทได้เช่นเดียวกับคนธรรมดาทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น