เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
กฎหมายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่น้อยคนนักที่จะเรียนรู้และให้ความสำคัญกับกฎหมาย คนที่รู้มากก็สามารถนำไปใช้ได้ทั้งที่เป็นประโยชน์และโทษ ส่วนคนที่ไม่รู้ก็มักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่เสมอ ดังนั้นเราจึงอยากนำเสนอเกร็ดกฎหมายเล็กๆน้อยๆที่สามารถจะนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน หากท่านใดมีคำถามหรือข้อสงสัยประการใดสามารถนำคำถามต่างๆมาโพสถามได้ เราจะพยายามตอบคำถามและค้นคว้าข้อมูลที่เป็นประโยชน์มานำเสนอแก่ท่านทั้งหลายต่อไป หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลทั้งหมดจะเป็นประโยชน์แก่ท่านไม่มากก็น้อย หากมมีข้อผิดพลาดประการใดยินดีรับคำชี้แนะของทุกท่าน คุณความดีทั้งหมดข้อยกให้แด่บิดามารดาและครูอาจารย์ทุกท่าน ติดต่อคดีความโทร.0990310273

29 มิถุนายน 2558

แนวทางการต่อสู้คดียาเสพติด


   การวางแผนต่อสู้คดียาเสพติด ต้องพิจารณาสาระสำคัญดังต่อไปนี้ 
           1. บันทึกการจับกุมสำคัญที่สุด ต้องตรวจบันทึกการจับกุมของตำรวจหรือปปส. เพราะถือว่าเป็นเอกสารสำคัญที่สุดในคดี เจ้าหน้าที่จะเบิกความขยายผลหรือขัดกับบันทึกการจับกุมหรือแตกต่างกันไม่ได้ และต้องมอบสำเนาบันทึกการจับ ป.วิ.อ.มาตรา 84(1) (ฎีกา 63/2533,408/2485)
           2. ถ้ามีถ้อยคำรับสารภาพในชั้นจับกุม ป.วิ.อ.มาตรา 84 วรรคสี่ ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลย ดังนั้น ถึงแม้จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ก็ไม่ได้มีผลเสียต่อรูปคดี ยังสามารถให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนและชั้นศาลได้ หักล้างโจทก์ได้

               คำรับสารภาพของผู้ต้องหาในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนจะต้องมิได้เกิดจากการบังคับขู่เข็ญ ถ้าให้การเพราะถูกบังคับจากตำรวจ ถือว่ารับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยไม่ได้ ดังนั้นถึงแม้ผู้ต้องหารับสารภาพ ก็ยังกลับคำให้การในชั้นศาลต่อสู้คดีได้ หากมีพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ตัวอย่างที่ศาลยกฟ้อง เช่น คำเบิกความของตำรวจชุดจับกุมซึ่งเป็นพยานคู่ แตกต่างกันในสาระสำคัญ เช่น สายลับ การส่งมอบยาเสพติด จำนวนยาเสพติด แหล่งที่พบยาเสพติด สถานที่ที่พบยาเสพติด ยานพาหนะที่ใช้ในการขนยาเสพติด หรือแตกต่างจากคำให้การของตนเองในชั้นจับกุม บันทึกการจับกุมในชั้นสอบสวนหรือแตกต่างจากบัญชีของกลาง แผนที่สังเขปที่ตัวเองเป็นผู้จัดทำขึ้น เป็นต้น (ฎีกา 8021/2544,6370/2539)
          3. ถ้อยคำอื่นในบันทึกการจับกุมของผู้ต้องหา เช่น ยอมรับว่าได้ซื้อยาบ้ามาจากนาย ดำ ยอมรับว่าค้ายามานานแล้ว ยอมรับว่านำยาบ้าไปซุกซ่อนไว้ที่ใดที่หนึ่ง รับฟังเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดจำเลยได้ ถ้าก่อนที่ตำรวจจะถามผู้ต้องหาได้เตือนผู้ต้องหาให้รู้ตัวก่อนว่า ถ้อยคำเกี่ยวกับยาเสพติดจะสามารถรับฟังลงโทษผู้ต้องหาได้ และต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า จะให้ถ้อยคำหรือไม่ก็ได้ จึงจะรับฟังลงโทษผู้ต้องหาได้ ป.วิ.อาญา มาตรา 84 วรรคท้าย (ฎีกา 3254/2553) ถ้อยคำอื่นในชั้นจับกุมของผู้ต้องหาหากเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีที่มาที่ไป สามารถนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ เช่น ไม่ได้ให้ถ้อยคำดังกล่าว หรือถ้อยคำดังกล่าวขัดต่อเหตุผลไม่น่าจะเป็นไปได้ เป็นต้น
          4. ของกลางขณะถูกจับ ถ้ามิได้อยู่กับผู้ต้องหา โอกาสต่อสู้คดีมีมาก แต่ถ้าตำรวจยัดยาหรือเขียนลงในบันทึกการจับกุมว่า จับได้พร้อมของกลาง ดังนั้น ถ้าตำรวจยัดข้อหาดังกล่าวจะต้องไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม และให้ร้องขอความเป็นธรรมว่า ถูกยัดยาหรือจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันนี้ก็เป็นข้อต่อสู้ที่ต่อสู้ได้ ป.อ.มาตรา 83(ตัวการร่วม)
       
   5. ของกลางที่พบในบ้านของผู้ต้องหา ถ้ามีผู้ต้องหาคนหนึ่งรับเป็นเจ้าของแล้ว เช่น สามีรับสารภาพว่าเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่ภรรยาจะหลุด
          ตำแหน่งที่พบของกลาง ถ้าซุกซ่อนปกปิดมิดชิดอยู่ คนที่ต้องติดคุกคือเจ้าของห้อง แต่บุคคลอื่นที่อยู่ในห้องอาจมีข้อสงสัยว่า อาจจะไม่ทราบว่ามียาเสพติด ยังมีลู่ทางต่อสู้อยู่ 7. คำซัดทอดระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกัน มีน้ำหนักน้อย ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานรับฟังลงโทษจำเลยได้โดยลำพัง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 227/1 จะต้องมีพยานหลักอื่นประกอบ นอกจากคำซัดทอด
           6. ธนบัตรล่อซื้อ การพบธนบัตรในตัวผู้ต้องหาไม่ได้หมายถึงว่า ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติด หากมีช่องว่างไม่ใกล้ชิดติดต่อกับช่วงเวลาจำหน่ายยาเสพติด และโจทก์ไม่มีพยานมายืนยันว่าเห็นจำเลยจำหน่ายยาเสพติด อาจมีข้อสงสัยว่าจำเลยอาจรับธนบัตรไว้ด้วยเหตุผลอื่นก็เป็นได้

           7. การล่อซื้อยาเสพติดของตำรวจ ถ้าผู้ต้องหามียาเสพติดอยู่แล้ว และสายลับล่อซื้อถือว่าทำได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 2(10) และเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมายตามความจำเป็นและสมควรแต่ถ้าผู้ต้องหาไม่ได้มียาเสพติดไว้ในความครอบครอง แต่ไปบังคับหรือใช้ให้ไปหายาเสพติดมาส่งมอบให้ตำรวจ ถือว่า เป็นการล่อซื้อที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานที่ได้มาจากการล่อซื้อรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ (ฎีกา 4301/2543, 4077/2549,4085/2545)
          8.ยานพาหนะที่ใช้ในการส่งมอบยาเสพติดต้องถูกริบแต่ในทางปฏิบัติตำรวจมักเรียกเงินจากผู้ต้องหาและปล่อยรถไป แต่ถ้ารถยนต์ติดสัญญาเช่าซื้อ ต้องแจ้งยกเลิกสัญญากับบริษัทไฟแนนซ์แล้วให้ไฟแนนซ์ไปขอรถคืนจากตำรวจ
          9.การหาทนายความว่าความคดียาเสพติด ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ มีประสบการณ์คดียาเสพติด มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ มองคดีแบบบูรนาการครบทุกด้าน มีแผนในการต่อสู้คดีที่สมเหตุสมผลน่าเชื่อถือ เปิดเผยแผนได้


                      ทุกวันนี้มีการจับกุมคดียาเสพติดเป็นจำนวนมาก แล้วเมื่อจับผู้กระทำความผิดได้แล้ว ตำรวจมักจะทำการขยายผลเพื่อหาตัวผู้บงการใหญ่ซึ่งอยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติด โดยวิธีการของตำรวจมักจะเนินการด้วยวิธีการต่อไปนี้
           1) บังคับให้ผู้กระทำความผิดใช้โทรศัพท์มือถือของตัวเองโทรไปหาบุคคลซึ่งติดต่อค้าขายยาเสพติดด้วย และให้หลอกล้อเพื่อนัดส่งยาเสพติด
           2) หลังจากนั้นจึงสะกดรอย เพื่อรอจังหวะในการจับกุม
           3) ตำรวจมักจะชักจูงให้ผู้กระทำความผิดที่จับได้โดยต่อรองว่าให้ความร่วมมือกับตำรวจ จะปล่อยตัวไป ส่วนใหญ่ผู้ต้องหามักกลัวและยอมทำตาม
           4) เมื่อจับตัวผู้กระทำความผิดได้เพิ่มขึ้นแล้ว บางครั้งตำรวจก็ปล่อยตัวไป บางครั้งก็ลดจำนวนยาเสพติดของกลางให้
           5) สายลับของตำรวจ บางครั้งก็เป็นพวกขี้ยา ,บางครั้งก็เป็นตำรวจไม่แน่นอน
           6) แหล่งผลิตยาเสพติดขนาดใหญ่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า , กัมพูชา , ลาว ยากในการจับกุม
           7) ในกรณีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ความช่วยเหลือกับทางราชการในการขยายผล กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 ให้ศาลใช้ดุลยพินิจลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำ ที่กำหนดสำหรับความผิดนั้นก็ได้ ดังนั้นเมื่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ความช่วยเหลือในการบอกข้อมูลสำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้กับเจ้าพนักงานหรือ ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น มียาบ้าประมาณ 1,500 เม็ด เมื่อรับสารภาพศาลอาจลงโทษจำคุกเพียง 4 ปี เป็นต้น
พกปืนอย่างไรไม่ผิดกฎหมาย ?


เรื่องอาวุธปืนนั้นมักจะมีปัญหาสอบถาม โต้เถียงกันอยู่เสมอๆ ในเรื่องการพกพาอาวุธปืน บางคนกล่าวว่ามีอาวุธปืนเป็นของตนเอง แต่ไม่มีใบพก (ป.๑๒) อย่ามีเสียเลยดีกว่า บางคนกล่าวว่าถึงแม้จะมีใบพกปืน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะพกพาอาวุธปืนได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ หรือทุกกิริยาอาการ 

การที่จะพกอาวุธปืนได้โดยไม่ผิกฎหมายนั้น น่าจะมีหลักเกณฑ์ที่สําคัญ ๓ ประการ คือ
  1.  เป็นอาวุธปืนของตนเองและได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย (มีใบ ป.๔) หรือจะเขียนเต็มๆ “ปืนมีทะเบียนและเป็นปืนของตนเอง”
  2. ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว หรือกล่าวโดยย่อว่า “มีใบพก” (มีใบ ป.๑๒)
  3. ปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายกําหนด หรือ “พกโดยข้อยกเว้นของกฎหมาย”
    - หลักเกณฑ์ประการแรกคือ “ปืนมีทะเบียนและเป็นปืนของตนเอง” อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคลนั้น ผู้ใดประสงค์จะซื้อต้องปฎิบัติตามกฎกระทรวงออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ กล่าวคือต้องขอรับใบอนุญาตตามแบบ ป.๑, มีใบอนุญาตให้ซื้อตามแบบ ป.๓ และมีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ตามแบบ ป.๔ การออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนนั้น พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ กําหนดให้ออกได้ใน ๓ กรณีเท่านั้น คือ
    ๑. สําหรับใช้ในการป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน
    ๒. ใช้สําหรับการกีฬา
    ๓. สําหรับใช้ในการล่าสัตว์

      แต่มีบางประเด็นในเรื่องปืนมีทะเบียนที่หลายคนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนไป กล่าวคือ เข้าใจว่าปืนมีทะเบียนย่อมเป็นปืนที่ถูกกฎหมายเสมอ ไม่ว่าใครจะนําไปใช้หรือครอบครองไว้ จึงปรากฎอยู่เสมอว่าทหารบางคน นําปืนมีทะเบียนของผู้อื่นมาไว้ในครอบครองโดยเข้าใจผิดว่าไม่ผิดกฎหมาย จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตํารวจจับกุมก็ยังโต้เถียงว่าไม่ผิด เรื่องนี้ขอเรียนว่า ตามหลักกฎหมายใน พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ นั้น การออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ออกให้กับผู้มีชื่อในใบ ป.๔ และออกให้ ๑ ใบ ต่ออาวุธปืน ๑ กระบอกเท่านั้น ผู้อื่นแม้จะเป็นบุตร ภรรยาก็ไม่อาจใช้สิทธินั้นได้ ดังนั้นการที่ทหารมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครอง กล่าวคือถ้าปืนที่มีไว้ในครอบครอง เป็นปืนที่ไม่มีทะเบียน (บางท่านเรียกว่า “ปืนเถื่อน”) ผู้ครอบครองจะต้องรับโทษน้อยกว่าถึงครึ่งหนึ่ง คือต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ ๖ เดือน-๕ ปี และปรับตั้งแต่ ๑,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท

13 พฤศจิกายน 2555

ตัวอย่างหนังสือรับสภาพหนี้




                        การทำสัญญากู้ยืมเงินนั้น เมื่อลูกหนี้หรือผู้กู้ผิดนัดในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ๆ ก็จะมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปถึงลูกหนี้ก่อนที่จะมีการฟ้องคดีต่อศาล เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้พร้อมด้้วยดอกเบี้ยผิดนัดภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อลูกหนี้ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วเพิกเฉยทางเจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีต่อศาล แต่หากลูกหนี้ไม่ต้องการถูกฟ้องและยอมรับการกู้ยืมเงินดังกล่าวลูกหนี้ก็สามารถทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ได้ โดยระบุจำนวนเงินที่ลูกหนี้เป็นหนี้และกำหนดจำนวนเงินที่ลูกหนี้ตกลงจะผ่อนชำระแก่เจ้าหนี้ในแต่ละงวดว่าเป็นจำนวนเท่าใด รวมถึงข้อกำหนดต่างๆหากว่าผิดนัดจะปฏิบัติอย่างไรบ้าง ดังตัวอย่างต่อไปนี้


หนังสือรับสภาพหนี้


                บันทึกนี้ทำที่...........................................................................................................................
เมื่อวันที่.............เดือน........................................พ.ศ. ...................... โดย

                นาย/นาง/นางสาว..................................................................อายุ...........ปี/ห้างหุ้นส่วนจำกัด ...................................................โดยผู้มีอำนาจลงนามท้ายบันทึกนี้/บริษัท.........................................จำกัด   โดยผู้มีอำนาจลงนามท้ายบันทึก   อยู่บ้านเลขที่/สำนักงานเลขที่...................หมู่ที่...............ถนน......................................แขวง/ตำบล.................................อำเภอ/เขต.........................................จังหวัด.......................................................  ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า ลูกหนี้    ฝ่ายหนึ่ง   ขอทำบันทึกนี้มอบไว้ให้กับ   นาย/นาง/นางสาว.................................................................อายุ...............ปี/ห้างหุ้นส่วนจำกัด .........................................................................โดยผู้มีอำนาจลงนามท้ายบันทึก/บริษัท................................................จำกัด   โดยผู้มีอำนาจลงนามท้ายบันทึกนี้   ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า         เจ้าหนี้   อีกฝ่ายหนึ่ง  โดยมีข้อความดังต่อไปนี้

                ตามที่ลูกหนี้ได้ทำสัญญา...........................ไว้กับเจ้าหนี้   รายละเอียดปรากฏตามสัญญาเลขที่...................................ฉบับลงวันที่........เดือน........................พ.ศ. ...............   ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า สัญญา นั้น   เนื่องจากลูกหนี้ผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระหนี้  จำนวน..................................บาท (............................................................................)  ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ณ วันทำบันทึกนี้  เป็นเงินจำนวน....................................บาท (.......................................................................)  
รวมเป็นหนี้ทั้งสิ้น  จำนวน............................................บาท (...........................................................)ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า หนี้ที่ค้างชำระ   ลูกหนี้ยอมรับว่า   เป็นหนี้ตามจำนวนดังกล่าว   และทำให้เจ้าหนี้เสียหายจริง   และมีความประสงค์จะชำระหนี้ทั้งหมดให้กับเจ้าหนี้   โดยมีรายละเอียดดังนี้

          ข้อ 1.     ลูกหนี้ตกลงชดใช้หนี้ที่ค้างชำระให้กับเจ้าหนี้  เป็นเงินจำนวน.............................บาท (.......................................................)   โดยวิธีการผ่อนชำระให้กับเจ้าหนี้  ดังนี้
                   1.1.   งวดแรก   เป็นเงินจำนวน.............................บาท  (........................................)ซึ่งเจ้าหนี้ได้รับไว้เรียบร้อยแล้วในวันทำบันทึกนี้


                                1.2.   ส่วนที่เหลือ   ผ่อนชำระเป็นงวด   รวม.......งวด   งวดละเดือน   ในอัตราเดือนละ.........................บาท (..............................................)   ชำระโดยวิธี...................................เริ่มชำระครั้งแรกในวันที่...........เดือน.............................พ.ศ. .........เป็นต้นไป             

                ข้อ 2.      กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ที่ค้างชำระงวดหนึ่งงวดใด   ให้ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ที่ค้างชำระทุกงวด   เจ้าหนี้มีสิทธิบอกเลิกการผ่อนชำระหนี้ที่ค้างชำระตามบันทึกนี้   และเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ที่ค้างชำระได้ทั้งหมดโดยพลันพร้อมกับมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ..........ต่อปีนับแต่วันผิดนัด

                ข้อ 3.     การผ่อนผัน  ผ่อนเวลา  หรือละเว้นการใช้สิทธิใด ๆ อันพึงมีของเจ้าหนี้ที่มีอยู่ลูกหนี้ตามบันทึกนี้ไม่ถือว่าเจ้าหนี้ได้สละสิทธิประโยชน์ในข้อตกลงตามบันทึกนี้กับลูกหนี้แต่ อย่างใด

                ข้อ 4.      การบอกกล่าว  ทวงถาม  หรือส่งเอกสารใด ๆ ของเจ้าหนี้อันพึงมีแก่ลูกหนี้ตาม ภูมิลำเนาที่ปรากฏในบันทึกนี้   ให้ถือว่าส่งโดยชอบ   และลูกหนี้ได้ทราบแล้วในวันที่คำบอกกล่าว
หรือเอกสารนั้นพึงไปถึงตามปกติ

                บันทึกนี้ทำขึ้นเป็นหนึ่งฉบับ   ลูกหนี้ได้ทราบและเข้าใจข้อความโดยตลอดดีแล้ว   เห็นว่าถูกต้องตรงตามเจตนาของตน   จึงได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน   และมอบให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักฐาน


ลงชื่อ......................................................................ลูกหนี้
(                                                                                              )


ลงชื่อ......................................................................พยาน
(                                                                                              )


ลงชื่อ.......................................................................พยาน
(                                                                                              )

20 กรกฎาคม 2555

กรณีถูกขโมยบัตรเครดิตไปใช้ ธนาคารเรียกเก็บเงินจากเจ้าของบัตรเครดิตได้หรือไม่?


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2552

ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ถูกลักขโมย หรือถูกใช้โดยบุคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ถือบัตร (จำเลย) ที่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศูนย์บัตรเครดิตของธนาคาร (โจทก์) ทราบแล้วโดยพลันเพื่อให้ระงับการใช้บัตรเครดิต ในภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนมีการแจ้งดังกล่าวในจำนวนเงินที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตร ซึ่งถูกนำไปใช้โดยมิชอบ รวมถึงภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจากแจ้งให้ธนาคารทราบแล้วไม่เกิน 5 นาที นอกจากจะขัดแย้งกับข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 6 วรรคสอง แล้ว ยังถือเป็นข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระในหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยไม่ได้ก่อขึ้นและไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ทั้งโจทก์ยังมีทางแก้ไขความเสียหายของโจทก์ได้โดยหากโจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฎว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยผู้ถือบัตร โจทก์สามารถเรียกเงินที่ได้จ่ายไปคืนจากร้านค้าได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยว่าบัตรเครดิตได้สูญหายไปเพื่อขอให้โจทก์ระงับการใช้บัตรเครดิต โจทก์จะต้องรีบดำเนินการให้จำเลยโดยเร็ว ก็จะทราบได้ทันทีว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลย แสดงว่าร้านเจมาร์ทไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อในเซลสลิป ย่อมทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากร้านเจมาร์ทแทนการมาเรียกเก็บจากจำเลยได้ ซึ่งเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่โจทก์มิได้ทำเช่นนั้น โดยเห็นว่ามีข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ถือเป็นการเอาเปรียบจำเลยเกินสมควรและเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องรับผิดเกินกว่าวิญญูชนทั่วไปจะคาดหมายได้ตามปกติ อันเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 จึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์

สินสมรสที่มีชื่อทางทะเบียนเป็นชื่อสามีหรือภรรยาผู้เดียว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8739/2552
จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดในระหว่างสมรสกับโจทก์ อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137
เมื่ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย อำนาจการจัดการจำนองอาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจำเลยก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือโจทก์มีสินสมรสเพิ่มขึ้นหรือไม่ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
การคุมความประพฤติจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 เป็นเพียงวิธีการที่ศาลกำหนดเงื่อนไขประกอบ การใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีหลักเกณฑ์ว่า ความผิดที่จะกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติต้องเป็นความผิดร้ายแรง หรือจำเลยต้องมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือเป็นอันตรายต่อสังคม หรือติดยาเสพติดให้โทษดังที่จำเลยกล่าวอ้าง เมื่อปรากฏว่าศาลล่างทั้งสองรอการลงโทษจำคุกจำเลย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 จึงชอบแล้ว

ฎีกาเรื่องสภาพบุคคล การจัดการสินสมรส ทรัพย์มรดก การแบ่งมรดก อายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5689/2552

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 บิดาโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. มารดาโจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงเป็นการเรียกให้ได้ที่ดินกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ แม้ที่ดินพิพาทจะกล่าวอ้างว่าเป็นสินสมรสก็ตามก็เป็นเพียงข้อที่นำไปสู่การวินิจฉัยถึงการแบ่งส่วนของที่ดินในฐานะที่เป็นสินสมรสเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของ อ. เท่านั้น คดีของโจทก์จึงมิได้พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว แต่เป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินนั้น เมื่อโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนหากไม่สามารถทำได้ให้ชำระเงินจำนวน 186,750 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทที่โจทก์เรียกร้องจึงไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินโดยไม่สุจริตนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
เมื่อ อ. ถึงแก่กรรม การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และ อ. ย่อมสิ้นสุดลงด้วยเหตุการณ์ตายของ อ. ทรัพย์มรดกส่วนของ อ. ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทันที ด้วยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 ประกอบมาตรา 1599 และ 1629 ที่ดินในส่วนที่เป็นสินสมรสของ อ. ย่อมกลายเป็นมรดก การที่ที่ดินเคยเป็นสินสมรสจึงเป็นเพียงข้อที่นำไปสู่การวินิจฉัยถึงการแบ่งส่วนของที่ดินในฐานะที่เป็นสินสมรสเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของ อ. เท่านั้น นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจาก อ. ถึงแก่กรรมแล้วประมาณ 5 ปี อ. สิ้นสภาพบุคคลเมื่อตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 วรรคหนึ่ง กรณีจึงมิใช่เรื่องการจัดการสินสมรสที่สามีภริยาจะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้นคู่สมรสที่มิได้ให้ความยินยอมมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 และ 1480 ทั้ง อ. ไม่อาจใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ เนื่องจากสิ้นสภาพบุคคลด้วยเหตุการตาย แต่กรณีเป็นเรื่องว่าด้วยวิธีการจัดการแบ่งทรัพย์ถึงสิทธิในที่ดินกึ่งหนึ่งของ อ. ที่เป็นมรดก โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่แบ่งสินสมรสในส่วนที่ดินครึ่งหนึ่งให้แก่ อ. โจทก์คงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นมรดกของ อ. ให้แก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น
โจทก์ผู้เป็นทายาทมิได้ฟ้องเรียกร้องมรดกดังกล่าวเสียภายในกำหนด 1 ปี จากจำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองแต่เพียงผู้เดียวในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ทรัพย์ในส่วนมรดกนั้นย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทายาทผู้ครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์ซึ่งรวมส่วนมรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 ย่อมใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นทายาทยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้เป็นทายาทอื่นได้ด้วยแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ย่อมถือว่าการยกอายุความเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 เป็นการทำแทนจำเลยที่ 1 ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) ดังนี้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754

18 มิถุนายน 2555

ลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์

ลักษณะการกระทำอย่างไร เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ พอสรุปได้ดังนี้

1. การครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยนั้น หมายถึงการครอบครองทรัพย์ตามความเป็นจริง ส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ยังเป็นของผู้อื่นอยู่ เป็นการครอบครองไว้แทนเจ้าของทรัพย์เท่านั้น ไม่ใช่ครอบครองเพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง

2. จะต้องได้การครอบครองทรัพย์มาอย่างแท้จริง ไม่ใช่ได้มาแต่เพียงการยึดถือ เช่น ให้ดูแลไว้เพียงชั่วคราว ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์นั้นอย่างแท้จริง ถ้าเบียดบังเอาไปเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ยักยอก

3. การครอบครองทรัพย์อาจได้มาโดยตรง คือเจ้าทรัพย์ส่งมอบให้หรือโดยปริยายก็ได้

4. การได้มาซึ่งการครอบครองนั้น ต้องเป็นการมอบให้โดยความสมัครใจของเจ้าของทรัพย์หรือผู้แทนเจ้าของ และต้องไม่ได้เกิดจากการหลอกลวงให้ส่งมอบให้ด้วย มิฉะนั้นเป็นความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์

5. การครอบครองทรัพย์นั้นต้องไม่เป็นความผิดฐานอื่นเสียก่อน ถ้าได้ทรัพย์นั้นมาโดยการกระผิดฐานอื่นมาแล้วไม่เป็นความผิดฐานยักยอกอีก เช่น ลักทรัพย์ หรือฉ้อโกง ทรัพย์นั้นมา แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปขายเสีย ดังนี้ ไม่เป็นความผิดฐานยักยอกอีก

6. การมอบทรัพย์ให้ไปขายโดยไม่จำกัดว่าจะต้องขายเท่าใด เจ้าของคิดราคาทรัพย์นั้นตามที่กำหนดไว้เท่านั้น จำเลยจะไปขายเท่าใดก็ได้ เพียงแต่ว่าจะต้องใช้ราคาทรัพย์ให้ ดังนี้เป็นการมอบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นให้ไปทั้งหมด เพียงแต่มีความผูกพันธุ์ในทางสัญญาว่าจะต้องใช้ราคาเท่านั้น เมื่อผู้รับทรัพย์ไปขายแล้วเบียดบังเอาไว้เสียไม่ชำระราคา ไม่ผิดฐานยักยอก ถ้ามอบทรัพย์ไปขายในฐานะตัวแทนในการขายเท่านั้น ดังนี้เบียดบังเอาไว้เสียเป็นความผิดฐานยักยอก

7. การฝากเงิน ผู้รับฝากมีสิทธิเอาเงินนั้นไปใช้ได้ แต่จะต้องส่งคืนเต็มจำนวน ถ้าผู้รับฝากเอาเงินนั้นไปใช้เสียหมดแล้วไม่มีคืนให้ ไม่ผิดฐานยักยอก เว้นแต่จะปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝากเงินนั้นไว้ ดังนี้ถือว่ามีเจตนาทุจริต ผิดฐานยักยอก

8. การมอบเงินให้ไปกรณีอื่น เช่นการให้ไปชำระหนี้แทน ให้ไปซื้อของมาให้ ให้ไปไถ่ทรัพย์ เป็นต้น ถ้าเบียดบังเอาไปโดยทุจริต มีความผิดฐานยักยอก

9. การรับฝากทรัพย์อื่นๆไว้ แล้วไม่ยอมคืนให้เจ้าของ โดยที่ทรัพย์นั้นยังอยู่ในความครอบครองของตน ยังไม่ผิด จะต้องมีการกระทำอื่นๆที่แสดงว่าได้มีเจตนาทุจริตคิดเบียดบังทรัพย์นั้นด้วย เช่นเอาไปจำหน่าย หรือปฏิเสธว่าไม่ได้รับทรัพย์นั้นไว้ เป็นต้น

10. ทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ถ้าเขามอบกรรมสิทธิ์ให้โดยเด็ดขาดแล้ว การเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปก็ไม่ผิดฐานยักยอก

11. การซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง ถ้ายังจะต้องนับ ชั่ง ตวง วัดหรือทำการอย่างอื่นหรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สิน เพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินนั้นแน่นอน เมื่อได้กระทำการดังกล่าวแล้ว กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อทันทีแม้จะยังไม่ได้ชำระราคา แต่ระหว่างที่ยังไม่ได้ส่งมอบทรัพย์นั้น ความครอบครองยังอยู่กับผู้ขาย ถ้าผู้ขายเบียดบังเอาไว้โดยทุจริต มีผิดฐานยักยอก

12. เกี่ยวกับการเช่าซื้อทรัพย์ ผู้เช่าซื้อทรัพย์นั้นไปไว้ในครอบครอง เมื่อผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อ และไม่ยอมคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อนั้น จะเป็นความผิดฐานยักยอกหรือไม่ต้องดูเจตนาทุจริตและข้อเท็จจริงอื่นประกอบด้วย ถ้าเพียงแต่ไม่ยอมคืนเฉยๆและทรัพย์นั้นยังอยู่ในความครอบครองของผู้เช่าซื้อ เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น แต่ถ้าเอาไปขายหรือจำนำขาด เป็นผิดฐานยักยอก

13. การเอาทรัพย์ที่รับฝากไปจำนำ จะเป็นความผิดยักยอกหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าการเอาไปจำนำนั้นเป็นการจำนำขาดหรือเพียงชั่วคราว ถ้าจำนำเพียงชั่วคราวโดยเจตนาจะไถ่คืนมาดังนี้ ยังไม่ผิดยักยอก

14. การมอบทรัพย์ให้นั้น วัตถุประสงค์ต้องไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่นหนี้ในการพนัน เงินที่ให้เป็นค่าจ้างไปฆ่าคน ผู้รับมอบไปแล้วเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตนเสีย ไม่ผิดฐานยักยอก

15. การครอบครองทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยแล้วเบียดบังเอาไปเป็นความผิดฐานยักยอก และถ้าทรัพย์อยู่ในความครอบครองของผู้อื่น เอาไปเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

16. เจตนาทุจริตเกิดขึ้นขณะใดย่อมเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ไว้แต่ขณะนั้นไม่จำต้องมีการแสดงเจตนา เปลี่ยนลักษณะการครอบครองแทนมาเป็นการครอบครองเพื่อตน โดยเพียงแต่ไปบอกขายทรัพย์นั้นแม้ยังขายไม่ได้ ก็ถือเป็นการเบียดบัง ถือเป็นการยักยอกสำเร็จแล้ว การเบียดบังเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ การเบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนหรือบุคคลที่สามก็ได้

17. เจตนาทุจริตเบียดบังทรัพย์นั้นเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ทรัพย์นั้นมาไว้ในครอบครอง แต่อาจมีเจตนาทุจริตมาก่อนได้ เช่น คนใช้คอยโอกาสอยู่ เมื่อนายจ้างมอบให้ก็ยักยอกเอาทรัพย์นั้นไปเสีย

18. ความผิดฐานยักยอกนั้น ผู้ที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น ถ้าสมคบกับผู้ที่ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ ก็มีความผิดฐานสมคบกันยักยอกได้ ไม่ใช่สนับสนุน

19. การส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้รับมอบทรัพย์นั้น ผู้รับทราบแล้วว่าผู้อื่นนั้นส่งให้โดยสำคัญผิด แต่ผู้รับมีเจตนาทุจริตในทันที ไม่ยอมบอกให้เขาทราบความจริง เป็นความผิดยักยอก แต่ถ้าขณะที่มีการส่งมอบทรัพย์ ผู้ส่งทรัพย์ถามว่า ผู้รับมอบทรัพย์เป็นบุคคลที่เขาต้องการมอบทรัพย์ให้ใช่หรือไม่ ถ้าผู้รับแสดงกิริยา ทำนองตอบรับ เช่น พยักหน้าเป็นการแสดงว่าใช่ เช่นนี้ ผู้รับมีความผิดฐานฉ้อโกง เพราะมีการกระทำที่แสดงออกมาเป็นการหลอกลวงให้ผู้ส่งมอบทรัพย์นั้นหลงเชื่อส่งทรัพย์ให้ไป ไม่ใช่เป็นการยักยอกทรัพย์

20. การที่เจ้าของทรัพย์วางของไว้เป็นที่ แต่เวลาทำกิจการเสร็จสิ้นแล้วลืมทิ้งไว้โดยไม่ได้เอาไปด้วย ไม่ใช่เป็นทรัพย์หาย ผู้เอาทรัพย์นั้นไปเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะยังไม่ได้สละการครอบครอง

21. ทรัพย์สินหาย เป็นเรื่องที่ทรัพย์นั้นหลุดพ้นไปจากความครอบครองยึดถือของเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยมิได้ตั้งใจ ไม่ใช่เรื่องสละการครอบครอง ผู้ใดเก็บเอาทรัพย์นั้นไปเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์สินหาย ต้องพิจารณาตามพฤติการณ์เป็นรายๆไป คือถ้าเก็บเอาไปโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าทรัพย์นั้นเจ้าของกำลังติดตามหรือจะติดตามเพื่อเอาคืนก็เป็นลักทรัพย์ ถ้าไม่รู้หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ก็เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย

22. ถ้าทรัพย์สินที่ตกหายนั้น เจ้าของสละไปเลย คือไม่ต้องการทรัพย์นั้นอีกต่อไปแล้ว เป็นการสละกรรมสิทธิ์โดยเด็ดขาด ย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินหาย ผู้เก็บได้ย่อมไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอก